คนไทยรู้จักแม่น้ำเจ้าพระยาเสียจนไม่คิดจะสงสัยว่าทําไมแม่น้ำสายนี้จึงชื่อว่า “เจ้าพระยา”
ครั้นเมื่อเกิดสงสัยขึ้นมาก็ไม่รู้จะไปหาคําตอบได้ที่ไหน?
สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวเอาไว้ว่า—
“ที่เราเรียกกันว่าปากน้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ แต่โบราณเรียกว่าปากน้ำพระประแดง ภายหลังเมื่อแผ่นดินงอกทะเลห่างออกไปไกลเมืองพระประแดงจึงเรียกว่าปากน้ำบางเจ้าพระยา ได้เห็นในจดหมายเหตุพระอุบาลีไปเมืองลังกาเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในหนังสือนั้นเรียกว่าปากน้ำบางเจ้าพระยา ทํานองเรียกปากน้ำบางปะกง เข้าใจว่าที่ซึ่งตั้งเมืองสมุทรปราการทุกวันนี้ในเวลานั้นจะเรียก “บางเจ้าพระยา” ” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : 2505 : หน้า 455)
โดยสรุป สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพกล่าวว่า ในสมัยโบราณนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่รู้ว่าชื่ออะไรแน่? แต่เรียกบริเวณปากน้ำว่า ปากน้ำพระประแดง
คําว่า “เจ้าพระยา” เพิ่งมาปรากฏเรียก “ปากน้ำบางเจ้าพระยา” เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าที่ซึ่งเป็นเมืองสมุทรปราการ หรือจังหวัดสมุทรปราการทุกวันนี้นั้น แต่ก่อน (คือสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) คงจะเรียกว่า “บางเจ้าพระยา”
แต่ทําไมบางนี้จึงชื่อ “เจ้าพระยา” ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน
เรื่องเกี่ยวกับชื่อ “เจ้าพระยา” และ “แม่น้ำเจ้าพระยา” นี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ “ข้าวไกล นา” ของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ฉบับประจําวันที่ 30 มิถุนายน 2520 ความว่า
“ศัพท์ในภาษาไทยเรานั้น บางศัพท์ที่เคยใช้กันมาจนรู้จักคุ้นหูกันทั่วก็กลับเงียบหายไปเฉยๆ แต่แล้วก็กลับดังขึ้นมาใหม่ แต่โดยเหตุที่ไม่ได้ใช้ศัพท์กันมานานเมื่อกลับได้ยินศัพท์นั้นใหม่ก็ทําให้คนรุ่นใหม่ ถามกันว่าศัพท์นั้นแปลว่าอะไร
เช่นคําว่า เจ้าพระยา เป็นต้น
คํานี้เคยมีใช้กันแพร่หลาย เพราะมีคนที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาหลายคน แต่ต่อมาผู้ที่เป็นเจ้าพระยานั้นหมดไปคนก็ลืม คงเหลือแต่ชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ คนก็ยังงงๆว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกว่า แม่น้ำเจ้าพระยา
อ้างอิง
“ก่อนจะถึงฝั่งธนฯ”. จากหนังสือ “เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์มติชน. 2545